การทำเลเซอร์ผิวหนังจัดเป็นกระบวนการทางการแพทย์เพื่อเสริมความงาม การประกันสุขภาพจึงไม่ครอบคลุมในการออกค่าใช้จ่ายส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยทำเลเซอร์ผิวหนังเพื่อรักษารอยแผลหรือกำจัดเนื้อร้ายที่เติบโตบนผิวหนัง อาจถือเป็นข้อยกเว้นได้ ผู้ที่สนใจทำเลเซอร์ผิวหนังควรปรึกษาแพทย์และบริษัทหรือหน่วยงานที่ตนทำประกันสุขภาพไว้ด้วย เพื่อประเมินค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่สามารถเบิกจ่ายจากประกันสุขภาพได้ โดยอาจมีอัตราค่าใช้จ่ายหลากหลายแบบให้เป็นทางเลือกประกอบการตัดสินใจ

ผู้ที่มีปัญหาผิวพรรณเกี่ยวกับริ้วรอย ความหมองคล้ำ อาการไหม้ ผิวหนังหย่อนคล้อย หรือรอยแผลเป็นจากสิวอาจขจัดปัญหาดังกล่าวได้ด้วยการทำเลเซอร์ปรับสภาพผิว โดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังจะเป็นผู้ดำเนินการรักษา แสงเลเซอร์ที่ใช้ยิงจะช่วยลบร่องรอยหรือจุดที่เป็นปัญหาออกไป ซึ่งเลเซอร์แต่ละชนิดก็แตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรง โดยทั่วไปแล้ว เลเซอร์ที่ใช้ปรับสภาพผิวแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ดังนี้

เลเซอร์ที่ทำให้ผิวเกิดอาการลอก (Ablative Laser Resurfacing) คือวิธียิงเลเซอร์ลอกชั้นผิวที่บางออกไป แพทย์จะยิงเลเซอร์ที่มีระดับความแรงสูงไปที่ผิวหนัง เพื่อลอกผิวชั้นบนตรงบริเวณที่เกิดปัญหา โดยเลเซอร์จะผ่านแทรกเข้าไปในผิวชั้นกลาง ทำให้ผิวกระชับและเรียบเนียนขึ้น การยิงเลเซอร์แต่ละครั้งจะช่วยกำจัดเซลล์ผิวที่เสียหายหรือเสื่อมสภาพออกไป เลเซอร์ผิวหนังกลุ่มนี้ใช้แสงเลเซอร์ 2 แบบสำหรับรักษาปัญหาผิวพรรณ ได้แก่

คาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ (CO2 Laser) คือเลเซอร์ที่มีประสิทธิภาพมาก โดยแพทย์จะยิงแสงเลเซอร์เป็นจังหวะสั้น ๆ หรือยิงแสงเลเซอร์อ่อน ๆ อย่างต่อเนื่องเข้าไปในชั้นผิวหนัง ความร้อนจากเลเซอร์จะลอกชั้นผิวบางออก เลเซอร์ชนิดนี้ช่วยกำจัดรอยแผลเป็นที่หนาและลึก ใช้รักษารอยเหี่ยวย่น แผลเป็น หูด รูขุมขนกว้างบนจมูก รวมทั้งกระเนื้อและมะเร็งผิวหนัง คาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์จะทำให้รู้สึกเจ็บได้ระหว่างทำเลเซอร์ และมักใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 2 สัปดาห์

เลเซอร์เออร์เบียม (Erbium: YAG laser) คือเลเซอร์ที่ใช้รักษาปัญหาผิวพรรณซึ่งเกิดขึ้นตื้น ๆ ไม่ได้เกิดร่องรอยลึก เช่น ปัญหาริ้วรอยบนใบหน้า มือ ลำคอ หรือหน้าอก และมักใช้รักษาหลุมสิว แสงเลเซอร์อาจทำให้เกิดรอยไหม้บริเวณเนื้อเยื่อที่ถูกยิงเลเซอร์บ้าง รวมทั้งอาจเกิดอาการบวม รอยช้ำ หรือรอยแดงเล็กน้อยอันเป็นผลข้างเคียงของการทำเลเซอร์ ทำให้ฟื้นตัวได้เร็วกว่าการทำเลเซอร์ด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ โดยใช้เวลาพักฟื้นเพียงสัปดาห์เดียว ทั้งนี้ เลเซอร์เออร์เบียมยังเหมาะกับผู้ที่มีผิวเข้ม

เลเซอร์ที่ทำให้ผิวเกิดอาการลอกเฉพาะส่วน (Fractionated Laser Resurfacing) คือเลเซอร์ผิวหนังที่ทำให้ผิวลอกชนิดหนึ่ง ใช้รักษาปัญหาผิวพรรณเฉพาะส่วน โดยแพทย์จะยิงแสงเลเซอร์บาง ๆ ผ่านเข้าไปในชั้นผิว เกิดหลุมเล็ก ๆ จำนวนมากซึ่งเป็นบริเวณที่เซลล์ผิวเก่าถูกทำลาย และกระตุ้นเซลล์ผิวที่อยู่ลึกลงไปให้ผลิตคอลลาเจนออกมา ส่วนเซลล์ผิวดีที่อยู่ล้อมรอบนั้นจะช่วยรักษาผิวหนังที่ถูกเลเซอร์ทำลาย ทำให้เกิดเซลล์ผิวใหม่ หลังทำเลเซอร์อาจเกิดรอยแดงหรือบวมเล็กน้อยซึ่งจะหายไปภายในไม่กี่วัน ผู้ที่ทำเลเซอร์ผิวชนิดนี้อาจต้องมารับการทำเลเซอร์อีก 3-5 ครั้ง โดยแต่ละครั้งให้เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ ผลลัพธ์ที่ได้อาจแตกต่างกันไป บางรายอาจเห็นผลทันที และบางรายอาจต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนจึงจะเห็นผลอย่างชัดเจน

เลเซอร์ที่ไม่ทำให้ผิวเกิดอาการลอก (Non-Ablative Laser Resurfacing) คือการรักษาผิวหนังแบบรุนแรงและใช้เวลาพักฟื้นน้อยกว่าการทำเลเซอร์ที่ทำให้ผิวเกิดอาการลอก แพทย์จะใช้รังสีอินฟราเรดยิงเข้าไปที่ผิวชั้นใน โดยความร้อนของเลเซอร์จะกระตุ้นการผลิตคอลลาเจนและสร้างเซลล์ผิวใหม่ขึ้นมาแทนที่เซลล์ผิวที่ซึ่งถูกทำลาย อย่างไรก็ตาม การทำเลเซอร์ผิวหนังชนิดนี้เน้นยิงเลเซอร์เข้าไปที่ผิวชั้นใน อาจทำให้ต้องใช้เวลาหลายเดือนจึงจะเห็นผล